วันอังคารที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ความไม่เข้าใจในเรื่องการกระตุ้นไม้กฤษณา

เกษตรกรผู้ปลูกไม้กฤษณาหลายคนกำลังประสบกับปัญหาเรื่องการกระตุ้นไม้กฤษณาของตนอย่างให้ได้ผลิตที่ดีและคุ้มค่าต่อการลงทุน เพราะในปัจจุบัน มีกระบวนการกระตุ้นไม้อยู่มากมายหลายแบบและน้ำยานั้นก็มีอยู่หลากหลายประเภท แต่ละประเภทก็ให้ผลที่แตกต่างกันไป

อย่างไรก็ดี วิธีการและสารกระตุ้นแต่ละอย่างนั้น ต่างก็มีข้อดีและข้อด้อยของตนเองแตกต่างกันไป ดังนั้น การตัดสินใจใช้วิธีการหรือสารกระตุ้นแบบใดนั้น อยู่ที่ว่า เจ้าของต้นไม้ต้องการให้ผลของมันออกมาเป็นเช่นไร หรือว่าต้องการจะแปรรูปต้นกฤษณาของตนออกมาเป็นสินค้าอะไร เช่น

-  เกษตรกรบางรายมีหม้อกลั่นของตนเอง และต้องการกลั่นน้ำมันขาย ก็อาจจะทำต้นไม้ของตนเป็นไม้ปากขวาน โดยการเฉาะหรือบากลำต้น แล้วเก็บเกี่ยวหลัง 3 เดือนเพื่อนำมากลั่น หรือบางรายอาจเก็บเกี่ยวโดยใช้มีดกรีดยางขูดเอาเฉพาะเนื้อไม้ที่เป็นน้ำมัน และสามารถเก็บเกี่ยวหมุนเวียนไปได้ตลอด โดยไม่ต้องตัดต้นไม้ แต่วิธีนี้จะส่งผลเสียในระยะยาว หากทำการเก็บเกี่ยวเฉพาะลำต้นส่วนล่าง เพราะในที่สุด ต้นไม้ก็จะกิ่วและหักโค่นได้ง่ายเมื่อโดนลมแรง

- บางรายมีน้ำหมักชีวภาพของตนเองอยู่แล้ว ก็ใช้น้ำหมักในการกระตุ้นต้นไม้ หากต้นไม้ไม่ติดเชื้อรุนแรงมากนัก ก็จะให้เนื้อไม้ออกมาดี สามารถเป็นได้ทั้งไม้ชิ้นและไม้สำหรับกลั่นน้ำมัน แต่หากต้นไม้ไม่สามารถทนได้หรือติดเชื้อรุนแรงก็อาจยืนต้นตายได้ เท่าที่ผู้เขียนสังเกตไม้ที่ทำการกระตุ้นจากน้ำหมักชีวภาพ พบว่า ในกรณีที่เนื้อไม้เกิดการสร้างน้ำมันเป็นเนื้อหนาและมีคุณภาพดีพอจะเป็นชิ้นไม้ได้ มักมีราสีสนิมเกิดขึ้นด้วยทุกครั้ง (ขออนุญาตเรียกเป็นภาษาชาวบ้าน เพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้น)

ดังนั้น หากท่านเกษตรกรพบว่ามีราแบบนี้เกิดขึ้นในต้นกฤษณา ก็อยากจะให้เพาะเลี้ยงขยายเชื้อกันเอาไว้ใช้กับต้นไม้ของตนเอง เพราะสารเคมีที่เป็นผลผลิตจากการย่อยสลายเนื้อไม้กฤษณาจากราตัวนี้นั้น ส่งผลโดยตรงต่อการสร้างน้ำมันกฤษณา และหากนักวิจัยท่านใดสนใจเรื่องนี้ ก็สามารถนำเอาไปต่อยอดได้ ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์ของราตัวนี้ก็สามารถไปหาดูได้ตามตำราจุลชีวะทั่วไปครับ

และเมื่อได้ทำการกระตุ้นไม้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นวิธีการใดก็ตาม ล้วนต้องรอให้ต้นไม้นั้นใช้เวลาในการสั่งสมปริมาณน้ำมันกฤษณาให้เพียงพอ เพื่อให้น้ำมันนั้นมีคุณภาพที่ดี และคุ้มค่าต่อการเก็บเกี่ยวและแปรรูป เช่นเดียวกันกับการเลี้ยงหอยมุก

แต่ก็มีเกษตรกรหลายท่านที่ใจร้อนและไม่เข้าใจในเรื่องการใช้เวลาสะสมน้ำมัน รวมถึงไม่เข้าใจในกายภาพของต้นกฤษณา ได้ทำการตัดโค่นหรือเก็บเกี่ยวก่อนเวลาอันสมควร  บางรายได้ทำการเจาะกระตุ้นไปแล้ว แต่ 5-6 เดือนให้หลังกลับเอาเลื่อยมาบั้งต้นไม้ซ้ำ เพื่อเก็บเกี่ยวไม้ปากขวานจากต้นไม้ต้นเดียวกัน  ผลที่ได้ก็คือ แนวการสร้างน้ำมันต่อต้านกับสารที่ใส่ในครั้งแรกนั้น ได้ถูกทำลายโดยคมเลื่อย และเมื่อโพรงแตกแล้ว อากาศก็สามารถไหลเวียนเข้าไปสัมผัสกับเนื้อไม้ได้  ผลที่สุด แทนที่จะได้ไม้เนื้อดี กลับกลายเป็นเปลือกภายใน และได้เพียงไม้ปากขวานภายนอกเท่านั้น

ดังนั้น หากท่านเกษตรกรท่านใดไม่ต้องการสูญเสีย ก็ควรแยกต้นทำ ระหว่างไม้ปากขานกับการเจาะกระตุ้น

วิศวะ  ศรีเพ็ชรกล้า  081-9979389
witsawa1@yahoo.com