วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ข้อควรระวังในการกระตุ้นไม้กฤษณา

ความผิดพลาดในการเจาะกระตุ้นไม้กฤษณา

นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน มนุษย์ได้พยายามคิดค้นหาวิธีการต่างๆที่จะทำการกระตุ้นให้ต้นกฤษณาสร้างน้ำมัน หรือเป็นไม้แก่น ทั้งนี้ก็เพราะมูลค่าราคาที่สูงของแก่นไม้และน้ำมันกฤษณานั่นเอง แต่ด้วยความไม่เข้าใจในกายภาพของต้นกฤษณา จึงทำให้หลายต่อหลายครั้งผลที่ได้ไม่ตรงตามที่คาดหวังเอาไว้ อีกทั้งยังได้สร้างความเสียหายที่เกิดกับต้นกฤษณาจากความผิดพลาดต่างๆด้วย

ทั้งนี้ไม่เว้นแม้แต่ตัวผมเองที่อุตส่าห์ค้นคว้าหาวิธีที่ทำให้ต้นกฤษณาได้ในปริมาณมาก แต่กลับมาตกม้าตายโดยลืมข้อเท็จจริงบางประการของต้นไม้ชนิดนี้ไป ทำให้เกิดความเสียหายขึ้นกับต้นไม้ ทั้งของตนเองและเกษตรกกรผู้ปลูกกฤษณา ซึ่งผมเองขอยอมรับข้อผิดพลาดตรงนี้ และได้รับผิดชอบในผลของความเสียหายนั้นโดยการรับต้นไม้ที่เสียหายนั้นเอาไว้ในสัดส่วนของตัวเอง (ในกรณีที่ทำแบบแบ่งครึ่ง)

ในบล็อกนี้ ผมจะขอบรรยายไว้เป็นอุทาหรณ์ให้แก่ผู้ที่จะทำการกระตุ้นไม้กฤษณาด้วยวิธีต่างๆได้ระวังไว้เพื่อที่จะได้ไม่เกิดความผิดพลาดใดๆขึ้นอีกในอนาคต


การกระตุ้นด้วยจุลินทรีย์หรือสารชีวภาพ

สารในกลุ่มนี้มีค่อนข้างหลากหลาย อาจเป็นเชื้อราหรือแบ็คทีเรีย เช่น ฟูซาเรียม หรือแอสเปอร์จิลลัสหรือบางครั้งก็เป็นพวก EM. ซึ่งน้ำยาชีวภาพเหล่านี้มีคุณสมบัติที่คล้ายกันอยู่ข้อหนึ่งก็คือ มันใช้สสารประเภทแป้ง , น้ำตาล และเซลลูโลสเป็นอาหาร ซึ่งอาจมีผลทำให้เกิดการย่อยสลายเซลต่างๆลุกลามจนกลายเป็นโพรงขนาดใหญ่ในลำต้น ซึ่งหากในช่วงเวลา 1-2 ปีหลังการกระตุ้น เนื้อเยื่อที่ถูกย่อยหรือทำลายยังไม่สลายไป ก็จะได้น้ำมันกฤษณาสะสมในปริมาณที่ดีเนื่องจากต้นไม้เกิดการระคายเคืองจากกรดอ่อนๆที่ได้จากการย่อยสลายของจุลินทรีย์

โพรงไม้ที่คืนตัวเป็นเปลือกภายในลำต้น
แต่หากมีการย่อยสลายจนเป็นโพรงก่อน 1 ปี จะทำให้ภายในโพรงแห้งลง และมีอากาศซึ่งอุดมไปด้วย ไนโตรเจนและออกซิเจน ไหลเวียนเข้าไปสัมผัสกับบาดแผลในโพรง และทำให้ต้นกฤษณาสามารถสร้างเนื้อเยื่อใหม่เป็นเปลือกและเนื้อไม้และคืนตัวได้ ซึ่งในข้อนี้หลายท่านคงมีประสบการณ์มาด้วยตนเองแล้ว

นอกจากนี้ หากภายในสวนมีความชื้นสูงอาจทำให้การติดเชื้อลุกลามจนทำให้ต้นไม้ยืนตายได้


การเจาะลำต้นกฤษณาโดยไม่ใส่อะไรเลย

วิธีนี้ส่วนมากมักทำกันในช่วงฤดูฝน ข้อดีคือ ง่าย ไม่ยุ่งยาก และราคาถูก ลักษณะการเกิดน้ำมันเกิดจากน้ำฝนไหลเข้าไปขังในรูเจาะพร้อมด้วยจุลินทรีย์จากบริเวณเปลือก ทำให้ต้นไม้เกิดการหลั่งน้ำมันออกมาต่อต้าน

ต้นไม้ที่เจาะแบบไม่ใส่สาร
วิธีนี้มักใช้เวลาเก็บเกี่ยวโดยการตัดทั้งต้นไปสับแล้วกลั่น และเก็บต้นไว้หลังการเจาะไม่นานนัก เพราะในบางครั้งหากเก็บไว้นานต้นไม้อาจคืนตัวหรือสร้างเนื้อเยื่อทดแทนได้


การตอกตะปู

เป็นกรรมวิธีแบบโบร่ำโบราณโดยชาวบ้านทำกันมานมนานแล้ว ข้อดีคือทำง่าย แค่ตอกตะปูใส่ต้นไม้
แต่ข้อเสียก็คือ หากทำทิ้งไว้นาน การถอนตะปูจะทำได้ยาก และเกิดความเสียหายต่อเลื่อยที่ใช้ตัดต้นไม้ด้วย ที่สำคัญ ผลผลิตที่ได้จากการตอกตะปูจะได้ไม้สีดำ สวยงาม น้ำหนักดี แต่เมื่อจุดเผาแล้วกลิ่นไม่ค่อยจัดนักและยังมีกลิ่นสนิมอีกด้วย

ต้นไม้ที่ตอกตะปู
 สาเหตุที่ไม้มีสีดำจัดนั้นไม่ได้เป็นสำดำจากน้ำมันกฤษณาทั้งหมด แต่ส่วนหนึ่งเกิดจากปฏิกิริยาของสนิมเหล็กและสารจำพวกกำมะถันในเนื้อไม้ กลายเป็นเฟอรัสซัลเฟต ซึ่งมีสีดำ จึงทำให้ชิ้นไม้นั้นมีสีที่สวยงามแต่ราคาไม้ไม่แพงนัก  ส่วนน้ำมันที่สกัดได้จากไม้ตะปูนั้นไม่เป็นปัญหา เพราะธาตุเหล็กนั้นไม่ได้ออกมากันไอน้ำและน้ำมันด้วย


การกระตุ้นโดยการใช้สารประกอบอินทรีย์

ซึ่งสารที่ผมใช้ก็อยู่ในกลุ่มนี้ โดยสารที่ผมใช้นั้นต้องเป็นฟู้ดเกรด (เกรดที่เป็นอาหาร หรือใช้กับอาหาร) เท่านั้นเพราะสุดท้ายแล้วเราต้องใช้ไม้กฤษณากับคน สารพวกนี้มักอยู่ในต้นไม้ได้ไม่นานนัก เพียงแค่ประมาณ 1 สัปดาห์เท่านั้น และจะถูกขับออกทางการคายน้ำของต้นไม้จนหมดสิ้นไม่เหลือตกค้างใดๆ แต่จะค่อนข้างรุนแรงเพื่อให้ต้นไม้ได้เกิดการระคายเคืองแบบรุนแรงและเฉียบพลัน ส่งผลให้เกิดการหลั่งน้ำมันที่มีโครงสร้างซับซ้อน (Beta agarofuran , Agarol , Guaiene) ออกมาในทันทีเพื่อซ่อมแซมตนเอง แต่ด้วยความรุนแรงของสารที่มีต่อเซลของต้นไม้ จึงได้ทำลายเซลบางส่วน เพื่อให้กระบวนการย่อยสลายโดยธรรมชาติ ได้ทำงานในช่วงเวลาถัดมา ทำให้ภายในต้นไม้ได้เกิดความระคายเคืองต่อเนื่องจากการถูกย่อยสลายโดยธรรมชาติ ซึ่งการระคายเคืองที่ว่านี้มักเกิดจากกรดอ่อนๆที่จุลินทรีย์ธรรมชาติย่อยเซลที่ตายจากน้ำยา และกระบวนการดังกล่าวสามารถทำให้ต้นกฤษณาสามารถเกิดน้ำมันได้ทั้งต้นในปริมาณมาก

แต่ในกระบวนการนี้ก็เกิดความผิดพลาดที่ไม่น่าให้อภัยขึ้น ซึ่งเป็นความประมาทหลงลืมและไม่ระมัดระวังของผมเอง กล่าวคือ ผมได้ทำความเสียหายแก่ต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ซึ่งผมจะอธิบายดังนี้

ต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่อายุมากนั้น มักมีขนาดของลำต้นและปริมาณใบที่ผกผันกัน คือมีขนาดต้นที่ใหญ่ แต่ปริมาณใบนั้นมีไม่มากนัก เมื่อเทียบกับต้นไม้เล็กขนาดอายุ 5-12 ปี ดังนั้น การเจาะกระตุ้นโดยใช้ดอกสว่านขนาด 13 มม. และเจาะห่างกันรูละ 20 ซม.นั้น ทำให้ต้นไม้รับน้ำยามากเกินไป และจากการที่ต้นไม้มีใบไม่มากนักเมื่อเทียบกับขนาดของลำต้นที่ได้ใส่น้ำยาเข้าไปแล้ว ทำให้อัตราการคายน้ำช้า  การเคลื่อนตัวเพื่อถูกคายทิิ้งทางใบของน้ำยาก็พลอยช้าไปด้วย ทำให้มีเวลาที่น้ำยาสัมผัสกับเนื้อภายในลำต้นนานเกินไป จึงทำให้เกิดเนื้อตายเป็นวงกว้างแทนที่จะเป็นแค่แนวที่แพ้น้ำยา ผลก็คือ ต้นไม้ผุภายในเป็นวงกว้าง ส่งผลให้ต้นไม้หักได้ง่ายเมื่อถูกลมกรรโชก และพื้นที่การสร้างน้ำมันก็ลดลงไปตามส่วนจากเนื้อเยื่อที่ถูกทำลาย

ไม้กฤษณาต้นนี้ถูกลมพัดหักหลังจากที่ผมเจาะไว้ได้ 8 เดือน
ช่วงเวลาที่ทำการเจาะกระตุ้นก็สำคัญ การเจาะใส่สารในวันที่ฝนตกก็สามารถสร้างความเสียหายให้กับต้นไม้ได้เช่นกันกับกรณีแรก คือการคายน้ำช้า ทำให้สารเคลื่อนที่ภายในลำต้นได้ช้า ก็จะเกิดการผุเป็นวงกว้างได้เช่นกัน  ดังนั้น หากจะใช้สารในกลุ่มนี้ จึงควรทำการเจาะกระตุ้นในวันที่มีแสงแดดเพียงพอละความชื้นในดินสูง เพื่อให้การเคลื่อที่ของน้ำในลำต้นเป็นไปได้โดยสะดวกและรวดเร็ว จะเกิดแนวน้ำมันที่หนาและเข้มข้นสูง สามารถเกิดเป็นไม้แก่นเกรดดีได้ในเวลาอันสั้น

สรุปคือ การกระตุ้นโดยสารประกอบอินทรีย์ควรทำดังนี้

1. ต้นไม้ที่มีช่วงอายุเหมาะสมคือ 5-15 ปี จะสามารถสร้างน้ำมันได้รวดเร็วและปริมาณมาก เนื่องจากมีใบที่เพียงพอต่อการสังเคราะห์แสงและสะสมน้ำมัน

ขนาดของต้นที่เหมาะสมสำหรับทำไม้ตัว

2. ขนาดของดอกสว่านที่ใช้ไม่ควรใหญ่กว่า 10 มม.

รูเจาะของดอกสว่าน 10 มม.

3. ควรทำการเจาะกระตุ้นในวันที่มีแสงแดดเพียงพอ (แดดจัดยิ่งดี) และไม่ควรทำในช่วงฝนตก

แสงแดดขนาดนี้กำลังดี

4. ในกรณีที่ทำการกระตุ้นต้นไม้ขนาดใหญ่ ไม่ควรเจาะรูใกล้กันนัก ระหว่างรูเจาะแนวตั้งควรห่างกันประมาณ 20-25 ซม. และ ไม่ควรเจาะรูตรงกัน (เบี่ยงกันนิดหน่อย) เพื่อป้องกันการบิดตัวแตกจากแรงลม จะทำให้อากาศเข้าโพรงที่แตกและต้นไม้จะคืนตัวและหยุดตกน้ำมันในบริเวณนั้น
ระยะห่างที่เหมาะสม

ซึ่งจากความผิดพลาดทั้งหมดที่ผมได้กล่าวมา ทำให้ปัจจุบันนี้ผมต้องระมัดระวังและรอบคอบมากขึ้น อีกทั้งงดเว้นการเจาะต้นไม้ให้กับเกษตรกรด้วย ทำการกระตุ้นแต่ไม้ของตนเองเพื่อแปรรูปส่งขายแบบธุรกิจครอบครัว ยกเว้นแต่ในกรณีที่เป็นคนรู้จักกันจริงๆขอร้องให้ทำให้ ผมจึงจะทำการเจาะกระตุ้นให้

 เพราะความผิดพลาดที่ผ่านมานั้นได้สร้างความไม่มั่นใจให้กับคนอีกหลายคนและได้ทำลายความรู้สึกของเกษตรกร ผมจึงอยากอธิบายไว้เพื่อเป็นกรณีศึกษาแก่คนอื่นๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องผิดพลาดเช่นเดียวกันกับผม

ในปัจจุบันผมได้แก้ไขกระบวนการทุกอย่างเพื่อให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด ส่งผลให้ผลผลิตที่ได้ออกมามีคุณภาพที่ดีและมีปริมาณมากขึ้น แต่ก็ยังมีคนบางกลุ่มพยายามทำลายด้วยการใส่ร้ายป้ายสีต่างๆนานา เช่นอ้างว่าไม้ไปขายที่ดูไบแล้วทำให้ผู้ใช้เกิดอาการโพรงจมูกอักเสบ จมูกพัง โดยอาศัยเวบบอร์ดต่างๆโจมตี โดยหารู้ไม่ว่า แท้จริงแล้วสารที่ผมใช้เจาะไม้นั้น สามารถหาได้จากในครัวและไม่มีวันตกค้างในต้นไม้ได้เลย และที่สำคัญ ผมไม่เคยขายไม้หรือน้ำมันไปดูไบเลย เพราะลูกค้าที่ผมขายไปคือ จีน , ญี่ปุ่น , การ์ต้า , คูเวตและโอมาน ส่วนที่ดูไบนั้น สินค้าที่จะขายได้ต้องเป็นไม้ซุปเปอร์เท่านั้น เพราะที่นั่นส่วนใหญ่แล้วเป็นคนมีเงิน รสนิยมสูง ไม้เกรดล่างแบบที่ผมทำนั้นไม่มีบุญได้ไปขายที่นั่นหรอกครับ

คนพวกนี้คือบ่อนทำลายเกษตรกรผู้ปลูกกฤษณาอย่างแท้จริง พยายามกันทุกวิธีที่จะเป็นปรมาจารย์ทำสารเพื่อให้มีชื่อเสียง จะได้ไปรับจ้างเจาะไม้ แต่กลับไม่มีไม้ของตนเองออกมาขายสักชิ้น  เป็นพวกมือไม่พายเอาเท้าราน้ำอย่างแท้จริง ผมไม่อยากยุ่งกับใครครับ การเขียนเวบนี้ก็เพื่ออยากให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ผู้ที่สนใจ ทุกวันนี้ผมทำเพียงแค่เลี้ยงครอบครัวและคนทำงานกับผม เช่นกลุ่มแปรรูปไม้เท่านั้น และอยากให้ผู้ปลูกกฤษณาทำเช่นเดียวกันคือ ทำเอง แปรรูปเองและหาที่ขายกันเองแบบที่ผมทำ แค่นี้ก็สามารถอยู่ได้แบบไม่ลำบากแล้วครับ


ผลผลิตที่ได้จากการกระตุ้นด้วยสารอินทรีย์

ไม้ซุปเปอร์จากการกระตุ้นไว้ 8 เดือน

ไม้ซุปเปอร์จากการกระตุ้น อาจจะชิ้นไม่ใหญ่แต่เกรดน้ำมันถึง
น้ำมันกลั่นจากขี้สิ่วไม้ตัว
สต็อคสินค้าเตรียมส่งขาย
ตัดหลังกระตุ้นไว้ 2 ปี
ตัดกิ่งตรวจเมื่อกระตุ้นไว้ 6 เดือน
แปรรูปไม้ หากชิ้นสวยก็ขายเป็นชิ้น ราคาดีกว่าเป็นกิโลกรัม
แทงเป็นท่อนแล้วค่อยแบ่งเป็นชิ้นเล็ก ประหยัดเวลาและค่าแรง
บรรจุเตรียมส่งออก
ไม้ซุปเปอร์ที่กระตุ้นไว้ 1 ปี 6 เดือน ในมาเลย์เซีย (ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม)
ไม้ที่ไม่หนาพอจะแทงก็นำมาสับไว้ทำน้ำมัน
ขี้สิ่วสำหรับกลั่นน้ำมัน
เกรดซุปเปอร์หลังการกระตุ้น 4 ปี ขายไปญี่ปุ่่นแล้ว
น้ำมันที่่กลั่นออกมาจากขี้สิ่ว
ต้นที่ทำไว้ 7 เดือนที่จันทบุรี
ชิ้นไม้ที่ได้จากการะกระตุ้น 1 ปี 4 เดือน
ไม้ที่ทำไว้ 8 เดือนแล้วต้นหักจากพายุ (ตามบทความ)
นี่ก็ไม้หัก 8 เดือน
ผึ่งไม้ไว้รอคัดแยกเกรด
ไม้ซุปเปอร์หลังการคัดแล้ว
แบบนี้เหมาะสำหรับโชว์ในตู้
มีผู้มาเยี่ยมชมงานจากหลายประเทศ
ดร.โล เจ้าของงานวิจัยเรื่องชากฤษณาจากไต้หวัน
ขายไม้ไปสองกิโลกรัม เกรดในภาพ
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรเยเมน ปัจจุบันลงทุนปลูกข้าวในกัมพูชา สนใจดึงนักธุรกิจมาลงทุน
เครือข่ายในกัมพูชา
คุณสม ไชยา บรรณาธิการข่าวสถานีโทรทัศน์ CTN กัมพูชา
คุณลุงผม (คุณธนานนท์) บรรยายออกทีวีที่กัมพูชาเป็นภาษาเขมร (เพราะเราเป็นคนบุรีรัมย์ ฮ่า ฮ่า)
หากแขกเข้ามาซื้อขายในประเทศจะขอรับเงินสดเท่านั้น (กลัวโดนโกง)
ผมจะแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งไว้ทำบุญหรือการกุศล
เลี้ยงอาหารบ้านเด็กกำพร้าที่ติด HIV



หากท่านใดสนใจสอบถามเรื่องการกระตุ้นไม้กฤษณา สามารถติดต่อได้ที่อีเมล witsawa1@yahoo.com  หรือที่เบอร์โทร +66-81-9979389 (081-9979389) วิศวะ  ศรีเพ็ชรกล้า ครับ